บ้านตะโหมด - ที่กิน ที่พัก ที่เที่ยว ในภาคใต้

บ้านตะโหมด
(Ban-Ta-Mod)

บ้านตะโหมด (Ban-Ta-Mod)

เวลาทำการ: ไม่ได้ระบุ

หมู่ที่ 3 บ้านตะโหมด ต.ตะโหมด อ.ตะโหมด #ประวัติหมู่บ้านตะโหมด บ้านตะโหมดตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง “ตระ” เป็นชื่อของช่องเขาซึ่งเป็นเส้นทางโบราณที่ใช้เดินทางจากอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ข้ามเทือกเขาบรรทัด โดยผ่าน ช่องเขา ซึ่งเรียกว่าช่องเขาตระ และออกสู่ช่องเขาหัวช้าง บ้านตะโหมด มาจากคำว่า “โต๊ะหมูด” เป็นคำบอก เล่าของชาวบ้านว่าผู้ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกเป็นคนไทยมุสลิม เพราะปรากฏหลักฐานหลายอย่างที่มีส่วน เกี่ยวข้องกับชื่อของชาวไทยมุสลิม เช่น นาปะเจ๊ะ (ที่ตั้งของโรงเรียนวัดตะโหมดปัจจุบัน) นาโคกแขกเจ้ย หนองโต๊ะอ่อน หนองโต๊ะโล่ง ห้วยโต๊ะเล็ม โคกสุเหร่า (ที่วัดตะโหมดปัจจุบัน) และห้วยทุ่งแขก เป็นต้น คำว่า ตะโหมดจึงเรียกเพี้ยนมาจากโต๊ะหมูด ซึ่งเป็นผู้นำชาวไทยมุสลิมคนแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบ้านตะโหมด และเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น โดยมีหลักฐานจากตำนานที่เล่ากันมา จากรุ่นสู่รุ่น และหลักฐานจากวัตถุโบราณคดีที่ค้นพบได้ในปัจจุบัน จุดชมวิวควนตาดม มีลักษณะเป็นเนินเขาสูงราว 120 เมตร และมีพื้นที่ตรงกลางโล่ง ไว้สำหรับเป็นพื้นที่ชมวิวทิวทัศน์ได้โดยรอบ ทั้งทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ ซึ่งแต่ละทิศล้วนแล้วแต่มีธรรมชาติที่น่าสนใจแตกต่างกัน เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ พร้อมชื่นชมบรรยากาศของท้องทุ่งนา และผืนป่าในตอนเช้า สามารถชมพระอาทิตย์ที่สาดส่องทอแสงในยามเช้า บางวันมีสายหมอกบางเบา สลับกับสายหมอกหนาเข้าปกคลุม หรือแม้แต่ในช่วงยามเย็น ท้องฟ้าที่นี่จะดูปลอดโปร่ง โล่ง สบายตา อีกทั้งยังมองเห็นก้อนเมฆที่สวยงามเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ ชวนให้จินตนาการได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ศูนย์รวมใจสองศาสนา เป็นการทำบุญของไทยพุทธ และไทยมุสลิม โดยไม่มีกรอบทางประเพณีและศาสนามากั้นขวาง ถ้าหากนึกถึงตะโหมด ผู้คนมักจะนึกถึง “สภาลานวัดตะโหมด” ซึ่งเป็นที่เลื่องชื่อต้นแบบของการบูรณาการในการพัฒนาชุมชน ซึ่งมีผลผลิตของชุมชนที่เป็นเครือข่ายนักพัฒนาท้องถิ่นมากมาย เป็นการทำบุญ 2 ศาสนาพร้อม ๆ กัน ในสถานที่เดียวกัน ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ที่สืบทอดกันมาช้านานกว่าหนึ่งร้อยปีแล้ว เป็นการทำบุญของคนไทยพุทธ และไทยมุสลิม ที่อยู่กันด้วยความสมานฉันท์ และความสามัคคี รักใคร่ปรองดอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกจากจะมีการทำบุญร่วมกันแล้ว ยังมีการเสวนาของผู้นำทางศาสนา และผู้นำชุมชน อีกทั้งการแสดงของเยาวชน นิทรรศการ และการพัฒนาฌาปสถานร่วมกันด้วย หรือที่ไทยพุทธเรียกกันว่า “เปลว” ส่วนไทยมุสลิมเรียกว่า “กุโบร์” ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน ตลาดต้นไทร เป็นตลาดท้องถิ่นพื้นบ้าน ที่เปิดเฉพาะเช้าวันเสาร์ เป็นตลาดที่ให้บรรยากาศง่าย ๆ เดินสบาย ๆ นับเป็นแหล่งรวมสินค้าพื้นบ้านท้องถิ่นหลากหลายชนิดทั้ง อาหาร พืชผักปลอดสารพิษ สินค้าขึ้นชื่อของบ้านตะโหมดที่มีเอกลักษณ์ความเป็นท้องถิ่น แม้จะมีร้านค้าไม่มากมายเหมือนตลาดนัดในเมืองใหญ่ แต่รู้สึกได้ถึงความใส่ใจของทุก ๆ ร้าน ภายในตลาดมีร้านค้าที่นำสินค้ามาวางขายโดยเฉพาะสินค้าท้องถิ่น โดยมีซุ้มขายของที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นซุ้มทรงไทยมีการตกแต่งอย่างเรียบง่าย เต็มไปด้วยบรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเองของชาวบ้านในพื้นที่ นาพ่อเฒ่า เป็นพื้นที่นาข้าวท่ามกลางต้นน้ำของเทือกเขาบรรทัด เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ที่มีต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ และบริเวณพื้นที่ปราศจากโรงงานอุตสาหกรรม มีผลด้านบวกที่ทำให้ได้ข้าวสังข์หยดที่มีคุณภาพข้าวสังข์หยด เป็นพันธุ์ข้าวเฉพาะถิ่นที่มีแหล่งปลูกดั้งเดิมอยู่ในจังหวัดพัทลุง ซึ่งปลูกกันมายาวนาน มีลักษณะพิเศษ คือ ข้าวกล้องมีสีแดงเข้ม นิยมบริโภคในรูปแบบข้าวซ้อมมือ ส่วนของจมูกข้าว เป็นข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เป็นพันธุ์ข้าวสังข์หยดที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ตามภูมิปัญญาของชาวบ้านตะโหมด วัดตะโหมด บ้านตะโหมด เป็นวัดที่มีหลักฐานปรากฏมาเป็นเวลา 100 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งวัดเก่านี้ประชาชนมักเรียกตามลำแม่น้ำว่า “วัดเหนือ” เนื่องจากอยู่เหนือต้นน้ำลำธารของวัดปัจจุบัน ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2370 หลวงพ่อไชยทอง หรือชาวบ้านมักเรียกท่านว่า พ่อแก่ไชยทอง ได้อยู่ปกครองวัดเหนือมาตามลำดับ แต่วัดเหนือแห่งนี้สันนิษฐานว่าไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างเหมือนวัดในปัจจุบัน จึงเป็นแค่เพียงสำนักสงฆ์ เท่านั้น เมื่อประมาณ พ.ศ. 2450 ได้มีหลวงพ่อเปีย ซึ่งเป็นพระที่ชอบแสวงหาที่สงบในการบำเพ็ญเพียรภาวนา และชอบอยู่ตามป่าช้า จึงได้เดินทางมาจาก วัดดอนคัน ตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา และได้มาเห็นป่าช้าแห่งนี้ (บริเวณวัดปัจจุบัน) เป็นที่เงียบสงบเหมาะแก่การที่พระภิกษุจะใช้เป็นที่เจริญภาวนา จึงคิดจัดตั้งสำนักสงฆ์ (วัดปัจจุบัน) ลงในป่าช้าแห่งนี้ ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านมักเรียกวัดปัจจุบันว่าวัดใต้ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดตะโหมด” เนื่องจากอยู่ใต้แม่น้ำลำธาร ในสมัยนั้นบ้านตะโหมดมีวัดถึง 2 วัดคือ วัดเหนือ และวัดใต้ ทั้ง 2 วัดนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายเหมือนอย่างทุกวันนี้ ต่อมาเมื่อสำนักแห่งนี้ (วัดใต้) มีความเจริญมากขึ้น ชาวบ้านจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาใคร่จะบวชในสำนักสงฆ์แห่งนี้ จึงได้ช่วยกันจัดสร้างศาลาลงในแม่น้ำลำธาร เพื่อจะได้ทำการอุปสมบท เพราะในสมัยนั้นต้องใช้ศาลาในน้ำ เมื่อปีพ.ศ. 2453 ชาวบ้านได้นิมนต์ พระช่วย อินฺทสโร มาจากวัดช่างทอง (เดิมเป็นชาวปัตตานี) มาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ โดยมีพระครูจัน วัดสังฆวราราม (วัดสังเขย่า) เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนหลวงพ่อเปีย เมื่อท่านชราภาพมากแล้วท่านจึงกลับไปสู่ภูมิลำเนาเดิมของท่าน ต่อมาพระช่วย อินฺทสโร จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอธิการช่วย อินฺทสโร เจ้าอาวาสวัดตะโหมด เป็นองค์แรกซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 หนังตะลุง เป็นศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นอย่างหนึ่งของภาคใต้ เป็นการเล่าเรื่องราวที่ผูกร้อยเป็นนิยาย ดำเนินเรื่องด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้องเป็นสำเนียงท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าการ “ว่าบท” มีบทสนทนาแทรกเป็นระยะ และใช้การแสดงเงาบนจอผ้าเป็นสิ่งดึงดูดสายตาของผู้ชม ซึ่งการว่าบท การสนทนา และการแสดงเงานี้ 25 นายหนังตะลุงเป็นคนแสดงเองทั้งหมด ส่วนใหญ่หนังตะลุงบ้านตะโหมดมักจัดแสดงในการแก้บนของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าที่คงอยู่ ปัจจุบันหนังตะลุงเป็นมหรสพที่นิยมแพร่หลาย อย่างยิ่งมาเป็นเวลานาน เป็นการอนุรักษ์และสืบทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงให้แก่อนุชนรุ่นหลัง เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้ให้คงอยู่สืบไป

แกลเลอรี่ภาพ

ความคิดเห็น

สถานที่เเนะนำอื่นๆ