เวลาทำการ: ไม่ได้ระบุ
ประวัติหมู่บ้านเขาอ้อ บ้านเขาอ้อตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นชุมชนเล็กๆ มี 37 หลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีวัดเขาอ้อเป็นวัดสำคัญของชุมชน มีอายุ 909 ปี ก่อนจะเป็นวัดเขาอ้อ เคยเป็นสำนักพราหมณ์มาก่อน มีการศึกษาด้านไสยศาสตร์ สมุนไพร การแช่ว่าน นอกจากวัดเขาอ้อแล้วยังมีวัดสำคัญคือวัดประดู่เรียงซึ่งมีต้นประดู่อายุหลายร้อยปี เป็นต้นกำเนิดประวัติศาสตร์ในภาคใต้ พระเจดีย์ พระพุทธบาทจำลองตั้งอยู่บนไหล่เขาของภูเขาอ้อด้านทิศตะวันออก เมื่อขึ้นไปจะพบกับศิลปกรรมประเภทอนุสรณ์สถาน มณฑปครอบรอยพระบาทหล่อด้วยทองแดงพร้อมกับพระพุทธรูปปางประทับนั่งห้อยพระบาท 1 องค์ อันเป็นผลงานทางด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมอันมีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และเทคโนโลยี ถ้ำฉัททันต์บรรพตหรือถ้ำพระ เป็นแหล่งศิลปกรรมที่ผสมผสานกันของธรรมชาติกับมนุษย์ เป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าดีเด่นในด้านประวัติศาสตร์ และถือเป็นที่ปลุกเสกพระชื่อดัง ถ้ำพระมีลักษณะเป็นภูเขาหินปูน กว้างประมาณ 7 เมตร โพรงลึกเข้าไปประมาณ 30 เมตร มีค้างคาวอาศัยอยู่จำนวนมาก มีประติมากรรมจากธรรมชาติโดยเพดานถ้ำด้านหน้ามีหินที่มีรูปพรรณสัณฐานคล้ายกับงวงช้าง ส่วนวัตถุที่เป็นศิลปกรรมหรือมรดกทางวัฒนธรรมที่สำรวจพบได้แก่ ชิ้นส่วนของพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ขนาดใหญ่ เป็นส่วนของพระกรรณ ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่กุฏิของแม่ชีกิ้มเลี่ยน ชูน้อย ภายในผนังถ้ำทางขวามือมีพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานเรียงรายหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก 10 องค์ รางแช่ว่านยา อ่างผสมว่านยาตัวสมุนไพรที่เลือกสรรตามตำราของสำนักวัดเขาอ้อที่สืบทอด ต่อมาจากพราหมณาจารย์ เมื่อ 2000 ปีมาแล้ว สำหรับบรรดาสานุศิษย์และผู้จัดทำได้ร่วมพิธีแช่ว่านยาที่เชื่อกันว่าทำให้ร่างกายอยู่ยงคงกระพันชาตรีและรักษาโรคบางอย่างได้ รางแช่ว่านยาเป็นแหล่งศิลปกรรมประเภทแหล่งหรือสถานที่ที่มนุษย์สร้างขึ้นผสมผสานกับธรรมชาติอันมีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์สุนทรียศาสตร์ ชาติวงศ์วิทยา และมนุษยวิทยา เมื่อก่อนอยู่ในถ้ำพระ ต่อมาในสมัยพระอาจารย์ปาลธัมโม เป็นเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ. 2470 - 2503 ได้สร้างรางแช่ว่านยาขึ้นบนไหล่ภูเขาอ้อเหนือถ้ำพระด้านทิศตะวันออกในปี พ.ศ. 2496 เริ่มมีลักษณะเป็นเรือสำหรับลงแช่ว่านยา ต่อมาสร้างด้วยปูนซีเมนต์ขนาดกว้าง และยาว 2.15 เมตร สูง 65 เซนติเมตร เหตุผลสำคัญประการหนึ่งของการสร้างรังแช่ว่านยาไว้บนไหล่เขาคือ เมื่อประกอบพิธีกรรมจนสัมฤทธิ์ผลแล้ว อาจารย์ผู้ทำพิธีจะทดสอบความขลังคงกระพันชาตรีในการถีบให้ผู้ผ่านพิธีกรรมตกลงจากไหล่เขา หากว่าศิษย์ไม่มีอันตรายใดๆ ถือว่าพิธีนี้สัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์ทุกประการ กุฎิทรงไทยโบราณ นี้เป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามและแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านในภาคใต้จากการใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นมาใช้ในการก่อสร้าง สถาปัตยกรรมหน้าบันกุฏิทรงไทยโบราณเป็นลวดลายพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ อดีตเคยเป็นกุฎิเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์โดยการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมมากที่สุด ขนมอายุวัฒนะ เป็นขนมที่ทำจากสมุนไพร (ต้นกำเนิดจากภูมิปัญญามหาวิทยาลัยทักษิณ) ได้นำข้าวเหนียวดำพันธุ์พื้นเมืองของพัทลุงมาพัฒนาโดยการหุงกับน้ำสมุนไพรที่ได้จากใบเตย ใบพาโหม ใบย่านาง และพริกไทยดำจนข้าวสุก นำไปตากให้แห้งบดต่อจนกลายเป็นแป้ง เรียกว่า “ผงคงกระพันชาตรี” นำผงแป้งนี้ไปผลิตทำขนมได้หลากหลายเช่น ขนมทองพับ ขนมทองม้วน ขนมขาไก่ เป็นขนมอายุวัฒนะที่ช่วยบำรุงร่างกาย ชะลอการเสื่อมของเซลล์ตับ ลดกรดในกระเพาะอาหาร บำรุงสมองและความจำ นอกจากนี้ยังมีเบตาแคโรทีนต้านอนุมูลอิสระและใยอาหารต่าง ๆ โดยมีสารให้ความหวานจากอ้อยช้างซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นในชุมชน พิธีกรรมกินข้าวเหนียวดำ วันขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๓ เป็นวันที่สานุศิษย์วัดเขาอ้อจะจัดพิธีไหว้ครูบูรพาจารย์ เพื่อทำบุญอุทิศกุศลให้กับดวงจิตวิญญาณของอดีตบูรพาจารย์ผู้ล่วงลับทุกรูป เป็นประจำทุกปี โดยนอกจากจะมีการทำบุญเลี้ยงพระแล้ว ทางวัดยังจัดให้มีพิธีกินเหนียวดำซึ่งเป็นพิธีกรรมทางไสยเวทเพื่อความเป็นสิริมงคล และปลุกขวัญกำลังใจแก่ลูกศิษย์และประชาชนทั่วไป ตามความเชื่อที่ว่า หากใครผ่านพิธีกรรมดังกล่าวแล้วจะแคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ และหากใครตั้งตนอยู่ในศีล ในธรรม และเชื่อมันในครูบาอาจารย์ แม้ในเวลาคับขันที่ต้องเผชิญหน้ากับอันตราย ร่างกายก็จะเป็นคงกระพันชาตรี ยิงฟันไม่เข้าตามความเชื่อ