เวลาทำการ: ไม่ได้ระบุ
หมู่ที่ 9 บ้านสายกลาง ต.หนองธง อ.ป่าบอน ประวัติหมู่บ้านสายกลาง บ้านสายกลางตั้งอยู่หมู่ที่ 9 บ้านสายกลาง ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง เป็นป่ารกทึบ มีช้าง หมู และสัตว์ป่ามากมาย ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจาก อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ซึ่งเหตุผลที่เรียกว่า “ชุมชนบ้านสายกลาง” เพราะว่ามีชุมชนอยู่ 3 ชุมชน บ้านหลักสิบ และบ้านทุ่งนา ซึ่งมีการแบ่งเขตถนนกันในตำบล ซึ่งชุมชนบ้านสายกลางอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 หมู่บ้าน ในอดีต ผกค. เข้ามาหลบซ่อน และชักชวนมาตั้งรกราก เพราะพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์พัฒนาเป็นหมู่บ้าน หมู่บ้านสายกลางเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ระดับมั่งมีศรีสุข เมื่อปี พ.ศ.2553 และเคยได้รับรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านร่มเย็นเป็นสุข เมื่อปี พ.ศ.2549 และอีกหลาย ๆ รางวัล ซึ่งพื้นที่โดยทั่วไปของหมู่บ้านสายกลาง เป็นหมู่บ้านที่สะอาด มีการตั้งบ้านเรือนอย่างเป็นระเบียบ ตลอดแนวถนนสลับกับสวนยางพารา บริเวณบ้านมีทั้งผลไม้ พืชผักสวนครัวที่ปลูกไถ่ถาง และปลูกยกร่องเล็ก ๆ นอกจากนั้นริมถนนทางเข้าหมู่บ้านมีการปลูกทั้งไม้ประดับ และพืชผักสวนครัวมองแล้วทำให้รู้สึกถึงความเรียบง่ายของคนในชุมชน หมู่บ้านสายกลางมีจุดเด่นในการทำ “กลองพรก” เป็นกลองที่ทำจากกะลามะพร้าว หุ้มด้วยหนังวัว เสียงจะมี 2 เสียง คือ เสียงทุ้ม และเสียงแหลม ในสมัยก่อนประชาชนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง หลังจากออก พรรษาก็จะนำโพนมาตีพร้อมทำการแข่งขันเพื่อสร้างความสนุกสนาน เมื่อถึงเวลาทำการแข่งขันจะทำการ แข่งขันเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น และต่อมาได้เห็นความสำคัญของเด็กจึงคิดหาวิธีให้เด็ก และเยาวชนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน จึงได้มีการคิดค้นประดิษฐ์ “กลองพรก” ขึ้นมาโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน และเริ่มทำการแข่งขันจนแพร่หลายในเวลาต่อมา หมู่บ้านสายกลางจึงจัดให้มีการแข่งขันกลองพรกเป็นประจำทุกปี ถือได้ว่าเป็นการคงความอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์อีกทางหนึ่ง ประเพณีซัดต้มเป็นกีฬาพื้นเมืองเก่าแก่ชนิดหนึ่งของชาวภาคใต้ เล่นกันทั่วไปในจังหวัดต่างๆ เช่น พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา เป็นต้น จัดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษาของทุกปี เป็นประเพณีหรือกีฬาพื้นบ้านที่สืบเนื่องมาจากประเพณีชักพระหรือลากพระของจังหวัดพัทลุง ปัจจุบันการซัดต้มหาดูได้ค่อนข้างยาก จังหวัดพัทลุงจึงได้จัดให้มีการแข่งขันซัดต้มรวมอยู่ในงานประเพณีแข่งโพนลากพระ มีอุปกรณ์ในการแข่งขัน คือ ขนมต้มสามเหลี่ยม และจัดทำเป็นขนมต้มชนิดแข่งขันขึ้นมา บางพื้นที่ใช้ข้าวเหนียวผสมทรายห่อด้วยใบกะพ้อ ต้มหรือนึ่งจนแห้งให้ข้าวเหนียวแข็ง หรือบางพื้นที่ใช้ข้าวตากผสมทรายห่อด้วยใบตาลสานแบบตะกร้ออย่างแน่นหนา โดยวิธีแข่งขันจะแข่งเป็นคู่ๆ และใช้สนามกว้างๆ ส่วนผู้ชมต้องยืนห่างจากนักกีฬาในระยะที่ปลอดภัย เตรียมการโดยคู่แข่งมีขนมต้มข้างละ 30-40 ลูก ยืนห่างกันประมาณ 12 เมตร กติกาในการแข่งขัน ใช้ขนมต้มปาให้ถูกร่างกายของคู่แข่งให้มากที่สุด ห้ามปาต่ำกว่าเข็มขัด เมื่อหมดขนมต้มนับจำนวนที่ปาถูกร่างกายคู่แข่งเป็นสำคัญ ถือเป็นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของจังหวัดพัทลุงที่มีมาอย่างยาวนาน ฝายมีชีวิตบ้านสายกลาง มีจุดเริ่มต้นเกิดจากการแก้ปัญหาภัยแล้งของชาวบ้านในชุมชน เพื่อนำไปสู่การป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำหลากในฤดูฝน ซึ่งเป็นฝายที่เกิดจากการร่วมมือกันสร้างขึ้นของชาวบ้านในชุมชน โดยใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน ส่งผลให้ชุมชนต้องการที่จะมีการจัดการระบบน้ำเชิงนิเวศน์ โดยการสร้างฝายมีชีวิตขึ้นในชุมชน ฝายมีชีวิตไม่เพียงแต่เป็นการจัดการน้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นการจัดการความรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กลับคืนมา ซึ่งเป็นการจัดการระบบนิเวศน์ทั้งระบบให้อยู่คู่กับชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีการพึ่งพาตนเอง และมีความสามารถในการดำรงตนอยู่ได้อย่างอิสระ มั่นคง สมบูรณ์ ซึ่งการพึ่งตนเองได้นั้น มีทั้งในระดับบุคคล และชุมชน ให้มีความอยู่ดีกินดี มีชีวิตอยู่ในขั้น “พออยู่พอกิน” สร้างประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนในช่วงหน้าน้ำหลาก เพื่อชะลอ และกักเก็บน้ำ ไม่ให้ปริมาณน้ำไปท่วมในพื้นที่เกษตร และชุมชนเมือง