เวลาทำการ: ไม่ได้ระบุ
หมู่ที่ 11 นาส้อง ต.ตะโหมด อ.ตะโหมด ประวัติหมู่บ้านนาส้อง บ้านนาส้อง ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ในสมัยก่อนจังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดที่มีการทำสงคราม อยู่มาวันนึงมีนายทหารชื่อนายส้องได้เดินทางมาที่หมู่บ้านแห่งนี้เพื่อมาตั้งค่ายพักแรม ในบริเวณนี้เป็นทุ่งนากว้าง ชาวบ้านจึงเรียนหมู่บ้านแห่งนี้ว่าบ้าน “นาส้อง” ปัจจุบันบ้านนาส้องมีชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 300 หลังคาเรือน มีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร สวนยางพารา สวนปาล์ม และสวนผลไม้ น้ำตกลานหม่อมจุ้ยหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “น้ำตกตะโหมด” นั้น เป็นน้ำตกที่อยู่ท่ามกลางป่าร่มรื่น ตั้งอยู่ในบริเวณหน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าบ้านตะโหมด โดยลักษณะของน้ำตกจะแบ่งเป็นชั้นเตี้ยๆ หลากหลายชั้น บางชั้นบางช่วงมีความลาดชัน และแต่ละชั้นมีชื่อเรียกต่างกัน ซึ่งข้อดีของน้ำตกสายนี้คือมีแอ่งน้ำที่ค่อนข้างปลอดภัย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวกันแบบครอบครัวและมีเด็กๆ มาเที่ยวด้วย สามารถลงเล่นน้ำได้โดยไม่เป็นอันตราย และภายในบริเวณน้ำตกยังมีสถานที่สำหรับจัดประชุมสัมมนาหรือเข้าค่ายพักแรมของนักเรียนนักศึกษาไว้รองรับ นอกจากนี้น้ำตกลานหม่อมจุ้ยยังเป็นธารน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของชาวตะโหมดด้วยเช่นกัน ห้วยแม่เอ สมัยบริเวณห้วยแม่เอเป็นเพียงธารน้ำไหลเล็กๆ และมีชาวบ้านอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวสองสามครัวเรือน เจ้าของบ้านชื่อเอเป็นเจ้าของพื้นที่ธารน้ำแห่งนี้และได้อาศัยอยู่จนแก่ตัวและเสียชีวิตลง ต่อมาได้มีกำนันซึ่งเป็นผู้นำของชุมชนแถบนี้มาขุดธารน้ำแห่งนี้ให้เป็นห้วยขนาดใหญ่ ในระหว่างที่ขุดเกิดพบตอไม้จำนวน 3 ตอด้วยกัน จึงได้ขุดตอไม้ขึ้นมาปรากฏว่าขุดไปได้แค่ 2 ตอ มีหนึ่งตอที่ขุดไม่ได้ ทุกครั้งที่ทำการขุดจะมีฝนฟ้าตกหนักหรือมีอุปสรรคบ้างอย่างทำให้ขุดไม่ได้ ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงคิดว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงได้ไปบนบานศาลกล่าวขอพรและสมปรารถนา จึงเชื่อกันว่าเป็นบารมีของแม่เอเจ้าของที่ๆ เสียชีวิตไป จึงได้ตั้งชื่อว่าห้วยแม่เอมาจนถึงปัจจุบัน ห้วยแม่เอเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ให้ชาวบ้านนาส้องไว้ใช้สอยในการเกษตร จุดเด่นแห่งนี้คือเมื่อถึงเดือน 5 ของทุกปี ปริมาณน้ำในห้วยจะลดลงต่ำมากจนมองเห็นตอไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือได้อย่างชัดเจน การทำกล้วยฉาบ เป็นวิธีการถนอมอาหารพื้นบ้านที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ อาศัยน้ำตาลเป็นสารป้องกันไม่ให้อาหารเกิดการเปลี่ยนแปลง บูดเน่าเสียหาย และมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บไว้กินนานๆ การทำกล้วยฉาบของชาวบ้านโดยทั่วไปจะมีขั้นตอนและวิธีการที่คล้ายๆกัน คือ ขั้นตอนแรกเริ่มด้วยการคัดเลือกกล้วยน้ำหว้า กล้วยหักมุก ที่แก่จัด นำมาปอกเปลือก แล้วนำมาหั่นเป็นแว่นๆแต่เดิมจะใช้มีดหั่นตามยาวหรือขวางก็ได้ แต่ปัจจุบันนิยมนำมาไสกับกบไสน้ำแข็งเพราะจะทำให้ได้แว่นกล้วยฉาบที่มีความหนาเท่าๆกัน อีกทั้งเป็นการประหยัดเวลาด้วย จากนั้นนำมาแกะแยกชิ้นออกเพื่อให้ยางกล้วยแห้ง แล้วนำไปทอดในน้ำมันที่ร้อนจัดจนกรอบแล้วตักใส่ที่พักให้สะเด็ดน้ำมัน เมื่อทอดกล้วยหมดแล้ว เอากระทะใส่น้ำตาลเนยและน้ำเล็กน้อย พร้อมด้วยเกลือพอมีรสเค็ม ตั้งไฟให้น้ำร้อนจัดเคี่ยวจนส่วนผสมเหนียวเป็นยางมะตูม เอากล้วยที่ทอดแล้วลงคลุกกับน้ำตาล ฉาบจนน้ำตาลเกาะติดกล้วยและแห้ง ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วจึงบรรจุภาชนะเก็บไว้ ปัจจุบันมีการทำกล้วยฉาบให้มีรสชาติที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งรสหวาน บาบีคิว และรสเค็ม เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกได้ตามความชอบ ข้ามหลามพิสดาร เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่คิดค้นนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมารังสรรค์ให้เป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีกรรมวิธีการทำที่ใส่ใจทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การไปหากระบอกไผ่มาเป็นภาชนะ ที่สำคัญของการทำข้าวหลามพิสดารคือการนำใบเล็ดใส่เป็นฐานรองไปในกระบอกไม้ไผ่ เว้นกาบใบเล็ดไว้ จากนั้นใส่ข้าวเหนียวที่ผสมไว้ตามสูตร นำไปเผาจนสุก วิธีรับประทานง่ายมาก แค่ดึงกาบใบเล็ดออกมาข้าวเหนียวก็จะออกมาพร้อมให้รับประทานข้าวหลามพิสดารในหมู่บ้านมีแค่เจ้าเดียว ราคาตั้งแต่กระบอกละ 20-40 บาท